เพาะเห็ดฟางกองเตี้ยในสวนยาง สร้างได้กว่า 2 หมื่นบาท/รอบการเก็บผลผลิต ที่ จ.กาฬสินธุ์
เรื่อง/ภาพ : แทนไท ออนทัวร์
นายสุภาพ นันดิลก เกษตรกรชาวสวนยางที่เพาะเห็ดฟางกองเตี้ยในสวนยางสร้างรายได้งาม |
ชาวสวนยางพารายังคงต้องก้มหน้าแบกรับภาระด้านต้นทุนต่อไป เพราะรายได้จากการขายผลผลิตยางพาราต่ำจนไม่เพียงพอต่อค่าปุ๋ย ค่ายา และแรงงาน ในรอบต่อไป เกษตรกรรายเก่าที่ทำสวนยางมานานแล้ว อาจจะมีลู่ทางในการจัดการ หากแต่ระบบแบ่งผลประโยชน์แบบ 40 : 60 หรือ70 : 30 ยังคงเป็นอะไรที่ทำให้เจ้าของสวนมีผลกำไรน้อยอยู่ดี ในเมื่อแรงงานก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการทำสวนยางจึงจำเป็นต้องยอมรับไป แล้วมองหาช่องทางในการสร้างรายได้จากทางอื่นเสริม สำหรับเกษตรกรรายใหม่ที่เพิ่งตัดสินใจปลูกยางได้เพียง 3-4 ปีมานี้ ผลผลิตน้ำยางก็ยังไม่ได้ประจวบเหมาะกับช่วงราคายางตกต่ำ ยิ่งทำให้กำลังใจที่มีเต็มเปลี่ยมในตอนแรกเริ่มถดถอยแม้บางรายจะยังคงรอดูสถานการณ์อยู่ แต่บางคนก็กำลังตัดสินใจโค่นทิ้งแล้วปลูกพืชชนิดอื่น
สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้เร่งเห็นปัญหานี้จึงเร่งลงพื้นที่มากขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง หาทางออกที่ดี และไม่ต้องสูญเสียยางที่ปลูกไป
เดิมที่ สกย.มีโครงการในการตั้งฟื้นฟู และดำเนินการกลุ่มพัฒนาเจ้าของสวนสงเคราะห์ให้สามารถพัฒนาช่วยเหลือตนเองเป็นสถาบันเกษตรกร ดำเนินการส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพการผลิต และดำเนินการส่งเสริมการมีรายได้เสริม อยู่แล้วจึงถือได้ว่าไม่ใช้โครงการใหม่ที่จัดขึ้นมาในสถานการณ์เช่นนี้
นายนภดล ผลประสาท เป็นประธานสหกรณ์ กองทุนสวนยางเชียงเครือ |
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 สกย.นำสื่อลงพื้นที่ดูงานที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้เดินทางไปที่ สหกรณ์กองทุนสวนยางเชียงเครือ จำกัด หมู่ที่1 ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายนภดล ผลประสาท เป็นประธานสหกรณ์ (โทร.08-7855-6123) พาคณะดูงานเยี่ยมชมการผลิต “เห็ดฟางกองเตี้ย” ในสวนยางพาราของชาวสวนยางเป็นอาชีพเสริม
นายสุภาพ นันดิลก อยู่บ้านเลขที่ 39/3 ต.เชียงเครือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โทร.08-3345-9264 เขาเล่าว่าก่อนหน้านี้ทำไร่มันสำปะหลังมานาน แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ตัดสินใจหันมาปลูกยางพาราเพราะมองว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับที่มั่นคง และเห็นว่าราคาซื้อขายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งจูงใจอย่างมาก ปลูกยางจำนวน 7 ไร่ พันธุ์ RRIM 600 ซื้อมาต้นละ 40 บาท ในสถานการณ์ปัจจุบันแม้จะราคายางต่ำลงนั่นอาจจะยังไม่กระทบต่อตนสักเท่าไร เพราะยางยังไม่ได้อายุที่เปิดกรีดอีกทั้งเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าหากหากสามารถเปิดกรีดได้แล้ว ราคาจะดีขึ้นเองตามกลไกของตลาด ในระหว่างที่ยางยังเล็กอยู่เขาจึงได้หันมาปลูกเห็ดฟางกองเตี้ยในสวนยางเป็นรายได้เสริมก่อน
ขั้นตอนและวิธีการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยในสวนยางพารา
1. เตรียมดินโดยการไถเตรียมดินให้เรียบ พลิกหน้าดินตากแดดไว้ 3-4 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน
2. ใช้กากมันสำปะหลัง หรือ ฟางข้าว ซึ่งการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ใช้ได้ทั้งตอซัง และปลายฟางถ้าเป็นตอซังแช่น้ำพออ่อนตัวก็นำมาเพาะได้ปกติประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นปลายฟางแข็งๆ ควรแช่น้ำประมาณ 1-2 วัน หรือจุ่มน้ำแล้วนำมากองสุมกันไว้ประมาณ 1 คืน ให้อิ่มตัวนิ่มดีเสียก่อนจะใช้
3. หลังจากแช่น้ำวัสดุที่จะใช้เพาะได้ที่แล้ว ให้นำวัสดุที่ใช้เพาะนั้น ใส่ลงในไม้แบบที่เตรียมไว้ให้เป็นแท่ง ขนาดกว้าประมาณ 10 เซนติเมตร ยาว 28 เซนติเมตร และสูงประมาณ 5 เซนติเมตร อัดพอแน่น จากนั้นถอดไม้แบบออก แล้วทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ ตามที่ต้องการ โดยให้ระยะห่างแต่ละแท่งควรห่างกันพอสมควร หรือ ประมาณ 8 เซนติเมตร
ไม้แบบที่เตรียมไว้ |
นำวัสดุที่ใช้เพาะนั้น ใส่ลงในไม้แบบที่เตรียมไว้ |
อัดพอแน่น จากนั้นถอดไม้แบบออก แล้วทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ ตามที่ต้องการ |
นำอาหารเสริม ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีเล็กน้อย ผสมคลุกเคล้าให้ทั่วกัน แล้วนำมาโรยเป็นรอบๆ ด้าน |
4. ทั้งนี้หลักสำคัญอีกอย่างที่มองข้าไม่ได้คือ การอัดแท่งนั้นต้องดูสภาพอากาศด้วย ถ้าอากาศเย็นให้อัดแท่งไม่ต้องห่างกันมาก แต่ถ้าอากาศร้อนก็ให้อัดแทนห่างๆ กันพอสมควร ในขณะที่กำลังนำกากมันมาอัดแท่งหากกากมันแห้งเกินไปให้รดน้ำพอชุ่มเพื่อให้กากมันจับตัวกัน จากนั้นนำอาหารเสริมที่ชุบน้ำ ซึ่งจะปุ๋ยคอกที่ละเอียดแล้วตามด้วยรำอ่อน และปุ๋ยเคมีเล็กน้อยผสมคลุกเคล้าให้ทั่วกัน แล้วนำมาโรยเป็นรอบๆ ด้าน และระหว่างช่องว่างของแท่งกากมันบางๆ
5. แบ่งเชื้อเห็ดฟางจากถุงซึ่งปกติเชื้อเห็ดฟาง 1 ถุง หนักประมาณ 200 กรัม ออกเป็น3-4 ส่วน เท่า ๆ กันจากนั้นโรยเชื้อเห็ดฟาง 1 ส่วน โดยโรยลงบนอาหารเสริมให้ทั่ว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มทั่วทั้งแปรง
6. ทำชั้นที่ 2 และ 3 หรือ 4 ต่อไปก็ทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 ทุกอย่างเมื่อทำมาถึงขั้นสุดท้าย ให้โรยอาหารเสริมและเชื้อเห็ดให้เต็มทั่วหลังแปลง
7. ขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ปักโครงห่างกันพอสมควรแล้วนำพลาสติกใสมาคลุมแปลง โดยใช้ 2 ผืนเกยทับกัน แล้วนำฟางมาคลุมทับบนพลาสติกที่คลุมอยู่อีกชั้นเป็นอันเสร็จสิ้น หลังจากนั้นประมาณวันที่ 3 วัน (ช่วงหน้าร้อน) จะเริ่มเห็นเส้นใยเห็ดเป็นสีขาวฟู ให้ลื้อพลาสติกที่คลุมอยู่ออกแล้วทำการตัดเส้นใยด้วยการนำน้ำสะอาดผสมด้วย EM มารดบางๆ ให้ชุ่มบนเส้นใยเพื่อป้องการการเกิดดอกเป็นกระจุก พอเส้นใยขาดหมั่นสังเกตอุณหภูมิในกองเห็ด ถ้าร้อนเกินไปให้เปิดด้านข้างช่วงเช้าๆ หรือ เย็นก็ได้ครั้งละประมาณ 5-10 นาที แล้วปิดลงไว้ตามเดิม ซึ่งเชื้อเห็ดต้องการอุณหภูมิประมาณ 35-38 องศาเซลเซียส หลังจากตัดดอกแล้วประมาณ 5-7วันก็สามารถเก็บไปบริโภค หรือจำหน่ายได้
ขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ปักโครงห่างกันพอสมควร |
นำพลาสติกใสมาคลุมแปลง โดยใช้ 2 ผืนเกยทับกัน |
นำฟางมาคลุมทับบนพลาสติกที่คลุมอยู่อีกชั้นเป็นอันเสร็จสิ้น |
ตัดเส้นใยด้วยการนำน้ำสะอาดผสมด้วย EM มารดบางๆ ให้ชุ่มบนเส้นใย |
หลังจากตัดดอกแล้วประมาณ 5-7 วันก็สามารถเก็บไปบริโภค หรือจำหน่ายได้ |
การเก็บผลผลิต ช่วยระยะเวลาในการเก็บผลผลิตที่เหมาะสมควรเป็นช่วงเช้ามืด และเก็บดอกเห็ดที่มีลักษณะดอกตูมหัวแหลม เพราะจะทำให้ได้น้ำหนักดี สำหรับระยะเวลาในการให้ผลผลิตนั้น ใน 1 รอบของการเกิดดอกจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 วันก็จะหมดดอกรุ่นแรก จากนั้นให้เปิดกองรดน้ำพอชุ่ม ปิดไว้อีกประมาณ 5-7 วันเส้นใยเห็ดก็จะเกิดดอกให้เก็บอีกเป็นรุ่นที่ 2 แต่ปริมาณผลผลิตอาจจะน้องกว่าครั้งแรก
นายสุภาพยังบอกอีกว่า การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย เป็นการลงทุนที่ต่ำ เฉลี่ยต้นทุนประมาณ 200 บาท/แปรง ทำอยู่ 30 แปรง (1 แปรงจะมี 20แท่ง) เก็บผลผลิตได้เร็ว และขายได้ราคา 50 บาท/กิโลกรัม (เป็นราคาขายส่ง) ซึ่งผู้รับซื้อจะนำไปขายปลีกอีกครั้งในราคาประมาณ 80 บาท ในแต่ละครั้งที่เก็บเห็ดไปขายเขาจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท/ครั้ง หักลบต้นทุนแล้วยังคงมีรายได้ และมีกำไรเหลืออย่างมาก