วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

ฟางมีค่ากว่าทองคำ

ฟางมีค่ากว่าทองคำ

เคล็ดที่(ไม่)ลับบนความสำเร็จของการทำกสิกรรมธรรมชาติ ในยุคที่ประเทศไทย กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ฟางคือชิ้นส่วน ของต้นข้าว ที่ชาวนาเก็บเกี่ยว เอาเมล็ดข้าวเปลือกไปแล้ว ส่วนมากชาวนาเผาทิ้ง การเผาฟางทิ้ง เป็นการสูญเสีย ทรัพยากรในประเทศ โดยเปล่าประโยชน์ เคยมีผู้รู้ และผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง กล่าวเปรียบเปรยเอาไว้ว่าผู้ใดเผาฟาง ผู้นั้นกำลังเผาธนบัตร ฉบับละ ๑๐๐ บาท ฉบับละ ๕๐๐ บาท จำนวนมาก ของตนเองทิ้งฟังท่านพูดดูเหมือนจะสมเหตุสมผลมากที่สุด เพราะฟางมีประโยชน์มากมาย นับอนันต์จริงๆ โดยเฉพาะ เป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการบำรุงดิน และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์


ประโยชน์ของฟาง

๑. เป็นหัวปุ๋ยชั้นดี ฟางอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน ฯลฯ ถ้าหากเรานำฟาง ไปคลุมดิน จะทำให้พืชผัก เจริญเติบโต แข็งแรง ทนต่อศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ท่านที่ไม่ชอบฟาง อาจทำให้ระคายผิวบ้าง จึงหันไปใช้มูลวัว มูลควายแทน ท่านเคยสังเกตไหมครับว่า วัวควายกินอะไรพวกมันกินหญ้า กินฟาง ก็นำไปบำรุงร่างกาย ของมันทั้งหมด ส่วนที่เหลือ ก็ขับถ่ายออกมา ซึ่งเป็นกากเดนของฟาง ประโยชน์ก็มีน้อย จึงมีผู้เปรียบเทียบเอาไว้ว่า มูลวัวมูลควาย ๑๐ ส่วน จึงจะเท่าฟาง ๑ ส่วน หรือเปรียบเทียบ ให้ชัดเจนเข้าไปอีกว่า ฟางเปรียบเหมือนรถมือหนึ่ง หรือรถใหม่ มูลวัวมูลควาย เปรียบเสมือน รถมือสอง ท่านจะเลือกเอาอะไร ฟางเป็นส่วนหนึ่ง ของแม่โพสพ (ข้าว) นอกจากฟางแล้ว ยังมีแกลบ รำ ละอองข้าว (คายข้าว) ทั้งหมดคือผลผลิต ที่ออกมาจากข้าว เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อดิน และมนุษย์เป็นอย่างมาก ถ้าหากชาวไร่ชาวนา หันมาใช้วัตถุดิบเหล่านี้ แทนปุ๋ยเคมีแล้ว จะทำให้ ประเทศไทย ไม่ต้องสั่งซื้อปุ๋ยเคมี จากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เราขาดดุลการค้า อย่างมากมายมหาศาล


๒. ฟางช่วยปรับโครงสร้างของดิน ที่เป็นกรดหรือเป็นด่าง ให้เกิดความสมดุล ในตัวของมันเอง ดินที่เป็นกรด  ถ้าหากท่านเอาฟาง ไปคลุมดินไว้ สิ่งเหล่านี้ จะค่อยๆ หายไปเองทันที ช่วยรักษา หน้าดิน ตามธรรมชาติของดิน ถ้าหากไม่มีอะไรปกคลุม หรือกั้นเอาไว้ หน้าของดิน จะเสื่อมสลาย และสูญเสีย ไปกับสายลม น้ำและแสงแดด ซึ่งจะทำให้ดิน เป็นดินด้าน อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากเรานำฟาง ไปคลุมดินเอาไว้ จะทำให้เกิด ชั้นหน้าดินอีกทีหนึ่ง ช่วยคลุมหญ้า และวัชพืชต่างๆ เมื่อเรานำฟาง ไปคลุมหญ้า และวัชพืชหนา พอสมควร โดยไม่ให้อากาศ หรือแสงแดด ส่องถึงพื้นดิน จะทำให้หญ้า และวัชพืชเน่า เป็นปุ๋ยหมัก ตามธรรมชาติ อย่างดี หลังจากนั้น เราก็จะสามารถแหวกฟาง ออกปลูกพืชผักต่างๆ ได้โดยไม่ต้องออกแรงมากนัก ฟางรักษาความชื้น ให้แก่ดิน เป็นการสร้างดินให้มีชีวิต

๓. สร้างระบบนิเวศ ถ้าหากเราทำกสิกรรมที่ใช้ฟางเป็นหลัก จะทำให้ประหยัดน้ำมากขึ้น ช่วยให้เกิด วัฏจักรชีวิตของสัตว์ ที่มีประโยชน์ต่อดิน ตามธรรมดาดินที่ว่างเปล่า หรือดินโล้น จะเป็นดินป่วยดินดาน ดังนั้น ถ้าหากเราปลูกพืชลงไป พืชผักก็จะอ่อนแอ ไม่เจริญเติบโต ศัตรูของพืช ก็จะมาทำลาย แต่ดินที่คลุมด้วยฟาง จะเป็นดินที่ร่วนซุยเพราะไส้เดือน จุลินทรีย์และสัตว์ต่างๆ ช่วยกันพรวนดิน ดินที่คลุมด้วยฟาง ก็จะเป็นอาณาจักร ของสัตว์ต่างๆ เพราะระบบนิเวศวิทยาอุดมสมบูรณ์ เช่น คางคก แย้ จิ้งเหลน แมงมุม ฯลฯ การระบาด ของแมลงศัตรูพืช ก็จะค่อยๆ หายไป โดยที่เราไม่ต้องไปใช้ สารขับไล่แมลง ดังนั้น การทำลายชีวิต ของสัตว์ต่างๆ ในไร่นา นอกจากจะผิดศีลธรรม ตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ที่เราอาศัยอยู่ให้เสื่อมลงไป อย่างน่าเสียดายเป็นที่สุด

ถ้าหากเรานำไปคลุมสวนผักของเราทุกๆปีจะเกิดความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ พืชผักนานาชนิด จะเกิดขึ้น 

โดยที่เราไม่ต้องไปดูแลประคบประหงม ากนักยิ่งไปกว่านั้นจะเกิดเห็ดต่างๆโดยเฉพาะเห็ดฟางให้เราได้มีอยู่ 

มีกินทั้งปี ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้พวกเราเห็นความสำคัญของฟางเมื่อเห็นกองฟางหรือเส้นฟางจงระลึกอยู่เสมอว่า

"นี่คือทองคำหรือทรัพยากรอันมีค่าและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงประหยัดสุดเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่นในโอกาสต่อไป" 
ขอขอบคุณ : หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๕ หน้า ๖๔ – ๗๑